เหล็กเส้นกลม มีชั้นคุณภาพเดียวคือ SR24 ซึ่งตาม มอก. 20-2543 กำหนดไว้ว่าค่า Yield Strength ต้องไม่ต่ำกว่า 24 kgf/mm2 (บางกรณีอาจใช้หน่วยอื่นที่แตกต่างกันไป) ส่วนเหล็กเส้นข้ออ้อย มี 3 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ SD30, SD40 และ SD50 ซึ่งตาม มอก. 24-2548 กำหนดไว้ว่าค่า Yield Strength ต้องไม่ต่ำกว่า 30 kgf/mm2 สำหรับชั้นคุณภาพ SD30, ไม่ต่ำกว่า 40 kgf/mm2 สำหรับชั้นคุณภาพ SD40 และไม่ต่ำกว่า 50 kgf/mm2 สำหรับชั้นคุณภาพ SD50
นอกจากนี้ยังมีเหล็กเส้นข้ออ้อยอีกชนิดที่มีตัว T กำกับต่อท้ายตัวเลขบอกชั้นคุณภาพ อย่าง SD30T, SD40T และ SD50T ข้อแตกต่างคือ หากเป็นเหล็กเส้นข้ออ้อยที่ไม่มีตัว T ต่อท้าย จะเป็นการผลิตด้วยกรรมวิธีทั่วไปซึ่งมีการเติมธาตุต่างๆ เช่น ธาตุ C ธาตุ Mn ลงไป
ในขณะที่เหล็กเส้นข้ออ้อยที่มีตัว T ต่อท้ายจะผลิตโดยผ่านกรรมวิธีความร้อนที่เรียกว่า Heat Treatment rebar หรือ Tempcored rebar (มาตรฐาน มอก. 2548 อนุญาตให้มีการผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อยด้วยวิธีนี้โดยผู้ผลิตจะต้องจัดทำเครื่องหมายที่เหล็กข้ออ้อยโดยใช้สัญลักษณ์ “T” ประทับตัวนูนบนเนื้อเหล็กตามหลังชั้นคุณภาพที่ผลิตขึ้น) ซึ่งกระบวนการตอนต้นจะผ่านการรีดร้อนเหมือนเหล็กเส้นข้ออ้อยปกติ เพียงแต่กระบวนการหลังจากการรีดร้อนแท่นสุดท้าย จะมีการฉีดสเปรย์น้ำจนกว่าจะได้การเย็นตัวที่เหมาะสม วิธีนี้จะทำให้ได้เหล็กเส้นข้ออ้อยที่มีการเติมธาตุ C และ Mn น้อยลง โดยที่มีคุณสมบัติทางกลในด้านความแข็งแรงและความเหนียวเท่าเทียมกันกับเหล็กเส้นข้ออ้อยที่มีการปรุงแต่งด้วยธาตุตามปกติ
ภาพ: การใช้เหล็กเส้นในงานโครงสร้างบ้าน